head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย (Giardiasis)  (อ่าน 88 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 654
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย (Giardiasis)
« เมื่อ: วันที่ 8 สิงหาคม 2024, 14:57:00 น. »
หมอออนไลน์: ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย (Giardiasis)

ไกอาร์เดีย (Giardia) เป็นโปรโตซัว (สัตว์เซลล์เดียว) ชนิดหนึ่งแบบเดียวกับอะมีบา สามารถเข้าไปทำให้เกิดการติดเชื้อที่ลำไส้เล็ก กลายเป็นโรคท้องเดินทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังได้

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก มักพบในถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี (เช่น ไม่มีส้วมใช้ ไม่มีน้ำดื่มสะอาด มีแมลงวันชุกชุม) หรือในกลุ่มคนที่ดื่มน้ำไม่สะอาด หรือขาดสุขนิสัยที่ดี

การติดเชื้อมักเกิดได้บ่อยในสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานพักฟื้นของผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยจิตเวช และในหมู่ชายรักร่วมเพศ

ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดง แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้คนอื่น


สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อไกอาร์เดียแลมเบลีย (Giardia lamblia) ที่อยู่ตามดินและแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำห้วย หนอง บึง ทะเลสาบ บ่อน้ำ เป็นต้น และอาจปนเปื้อนอยู่ในสระว่ายน้ำและน้ำประปา (เนื่องจากเชื้อในรูปของซิสต์* มีความคงทน ไม่ถูกทำลายด้วยคลอรีน) ส่วนใหญ่ติดต่อโดยการดื่มน้ำจากแหล่งน้ำเหล่านี้แบบดิบ ๆ หรือจากการกินผัก ผลไม้ และอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ นอกจากนี้ยังอาจติดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อโดยผ่านทางการสัมผัสมือ หรือทางเพศสัมพันธ์ที่มีการใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาตที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระในบริเวณทวารหนัก (ซึ่งพบในหมู่ชายรักร่วมเพศ)

ระยะฟักตัว ประมาณ 1-3 สัปดาห์

*เชื้อนี้มีอยู่ตามดินและน้ำในรูปของถุงหุ้มหรือซิสต์ (cyst) ซึ่งสามารถมีชีวิตได้นานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน เมื่อคนกินซิสต์เข้าไปในลำไส้ ถุงหุ้มก็จะแตกปล่อยให้เชื้อออกมาแบ่งตัวเจริญเติบโตเป็นเชื้อระยะเจริญหรือโทรโฟซอยต์ (trophozoites) ซึ่งจะรุกล้ำเข้าไปในเยื่อบุลำไส้ ทำให้ลำไส้อักเสบและขัดขวางการดูดซึม และส่วนหนึ่งเจริญเป็นซิสต์ ขับออกทางอุจจาระไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย

อาการ

ในรายที่เป็นเฉียบพลัน แรกเริ่มมีอาการถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง (บางรายอาจถ่ายเหลวปริมาณมาก วันละ 1 ครั้งหลังอาหารเช้า) 3-4 วันต่อมาอุจจาระมีลักษณะเป็นมัน เป็นฟอง ลอยน้ำ และมีกลิ่นเหม็นจัด อาจส่งกลิ่นฟุ้งไปทั่วห้อง อุจจาระมักไม่มีมูกหรือเลือดปน (น้อยรายที่อาจมีมูกโดยไม่มีเลือด) ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบิดในท้อง มีลมในท้องมาก ท้องอืด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีผื่นขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีอาการอยู่นาน 1-3 สัปดาห์ (บางรายอาจนาน 6 สัปดาห์) แล้วหายไปได้เองเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้อยอาจมีอาการเรื้อรัง

ในรายที่เป็นเรื้อรัง (อาจเกิดตามหลังอาการเฉียบพลันหรือไม่ก็ได้) มักมีอาการที่เกิดจากการดูดซึมผิดปกติ (malabsorption) ได้แก่ อาการถ่ายอุจจาระเหลวปริมาณมากและบ่อย อุจจาระมีสีเหลืองเป็นฟอง มีลักษณะเป็นมันลอยน้ำ และมีกลิ่นเหม็นจัด อาการมักเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีท้องผูกสลับท้องเดินนานเป็นแรมเดือนแรมปี มักมีอาการปวดท้อง (ซึ่งจะเป็นมากหลังกินอาหาร) มีลมในท้อง ท้องอืด และน้ำหนักลด

ภาวะแทรกซ้อน

ในรายที่ถ่ายรุนแรงอาจมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งมักไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต (ยกเว้นถ้าพบในทารกอาจเป็นอันตรายได้)

อาจเกิดภาวะพร่องแล็กเทส ทำให้มีอาการท้องเดิน หรือปวดท้องเวลาดื่มนม

ที่สำคัญ คือ ทำให้ลำไส้มีการดูดซึมที่ผิดปกติ มีอาการท้องเดินเรื้อรัง น้ำหนักลด และขาดสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่เป็นโรคนี้เรื้อรัง จะทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโต น้ำหนักน้อย ขาดสารอาหาร ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและพัฒนาการทางสมอง


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย โดยตรวจพบภาวะขาดน้ำ ท้องอืด มีอาการกดเจ็บท้องเล็กน้อย ได้กลิ่นอุจจาระเหม็นจัด บางคนอาจมีไข้ต่ำ ๆ

แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจพบเชื้อไกอาร์เดียในอุจจาระ (อาจต้องนำอุจจาระไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ซ้ำ ๆ หลายครั้ง หากตรวจครั้งแรก ๆ ไม่พบเชื้อ) ในกรณีที่ไม่แน่ใจ อาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น การตรวจสารก่อภูมิต้านทาน (antigen) ในอุจจาระด้วยวิธี IFA หรือ ELISA


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาเบื้องต้นด้วยการให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ

เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เมโทรไนดาโซล นาน 5 วัน

ถ้ามีภาวะขาดสารอาหารหรือน้ำหนักน้อย ก็จะบำรุงอาหาร วิตามิน และเกลือแร่ ตามลักษณะอาการที่พบ

ผลการรักษา มักจะได้ผลดี ยกเว้นในรายที่ดื้อยา อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น เช่น ทินิดาโซล (tinidazole), อัลเบนดาโซล


การดูแลตนเอง

ถ้ามีอาการถ่ายบ่อย อุจจาระมันเป็นฟอง ลอยน้ำ และมีกลิ่นเหม็นจัด ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด
    ถ่ายรุนแรง อาเจียนมาก ปวดท้องรุนแรง หรือดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ได้น้อย (สังเกตพบปัสสาวะออกน้อย และมีสีเข้มอยู่เรื่อย ๆ)
    มีภาวะขาดน้ำค่อนข้างรุนแรง สังเกตพบมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ลิ้นเป็นฝ้าหนา ตาโบ๋ ปัสสาวะออกน้อย
    มีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจหวิวใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว

สำหรับทารก มีท่าทางซึม ไม่ร่าเริง กระหม่อมบุ๋ม

    มีไข้เกิน 3-4 วัน หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย
    หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
    กินยาตามที่แพทย์แนะนำ 2-3 วันแล้วไม่ดีขึ้น
    มีความวิตกกังวล


การป้องกัน

1. ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหาร เปิบอาหาร หลังถ่ายอุจจาระ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก

2. อย่าดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติแบบดิบ ๆ ถึงแม้จะดูใสสะอาดก็ไม่ปลอดภัย ควรต้มน้ำให้สุกก่อนดื่ม (ต้มให้เดือดนานอย่างน้อย 10 นาที) หรือดื่มน้ำขวดที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อแล้ว

3. เวลาเล่นน้ำในสระว่ายน้ำหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ ควรระวังอย่าให้น้ำเข้าปาก

4. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ

5. สำหรับชายรักร่วมเพศ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น การใช้ปากสัมผัสกับทวารหนักหรือองคชาต


ข้อแนะนำ

1. ผู้ที่ติดเชื้อไกอาร์เดียส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ แต่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้คนอื่น ดังนั้น จึงควรรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายอุจจาระลงในส้วม การล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหาร เปิบอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระ

2. โรคนี้แม้ไม่ได้ให้ยารักษาก็อาจหายได้เอง ซึ่งอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ การให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น และลดการแพร่เชื้อ

3. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากมีอาการท้องเดินควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การวินิจฉัย และรักษาโรคแต่เนิ่น ๆ