head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: มะเร็งตับ (Liver cancer)  (อ่าน 75 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 789
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: มะเร็งตับ (Liver cancer)
« เมื่อ: วันที่ 4 สิงหาคม 2024, 20:00:05 น. »
หมอออนไลน์: มะเร็งตับ (Liver cancer)

มะเร็งตับ เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้ชายไทย และพบมากเป็นอันดับที่ 2-3 ของโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้หญิงไทย มักเกิดในคนอายุ 30-70 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2-3 เท่า

ในบ้านเรา แบ่งมะเร็งตับออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

1. มะเร็งเซลล์ตับ (hepatoma/hepatocellular carcinoma/HCC) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่อยู่ในเนื้อตับ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ มักพบในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี (ทั้งที่เป็นพาหะและผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง) ผู้ป่วยตับแข็ง ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด และผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งเซลล์ตับ

2. มะเร็งท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma/CCC) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่บุภายในท่อน้ำดีส่วนที่อยู่ภายในตับ (biliary tree) พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่พบมากที่สุดทางภาคอีสาน* เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้มักพบร่วมกับโรคพยาธิใบไม้ตับ

*ประชาชนในภาคอีสานจะคุ้นเคยกับโรคนี้ อันเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคพยาธิใบไม้ตับเป็นอย่างดี และเนื่องจากผู้ป่วยมีอาการตับโตเป็นสำคัญ จึงนิยมเรียกว่า โรคตับโต

สาเหตุ

มะเร็งเซลล์ตับ สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่าส่วนใหญ่มีสาเหตุสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี ตับแข็ง และการดื่มแอลกอฮอล์จัด นอกจากนี้ยังพบว่าสารอะฟลาท็อกซิน (afla toxin) ซึ่งเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราที่มีชื่อว่า Aspergillus flavus และพบปนเปื้อนอยู่ในถั่วลิสง (โดยเฉพาะถั่วลิสงบด) ข้าวโพด ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม องุ่นแห้ง ปลาตากแห้ง มันสำปะหลัง แหนม เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ เป็นต้น เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตัวเสริมให้เกิดมะเร็งเซลล์ตับในผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจมีผลทำให้เกิดมะเร็งเซลล์ตับ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ภาวะไขมันสะสมในตับหรือไขมันเกาะตับ (fatty liver) การสูบบุหรี่ การได้รับฮอร์โมนเพศชายเป็นเวลานาน การได้รับสารเคมีอันตรายจากยากำจัดวัชพืช เป็นต้น

มะเร็งท่อน้ำดี สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่ามีความสัมพันธ์กับโรคพยาธิใบไม้ตับ (ซึ่งเกิดจากการกินปลาน้ำจืดแบบดิบ ๆ) การกินอาหารที่มีสารไนโตรซามีน (nitrosamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่พบในอาหารพวกโปรตีนหมัก (เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม แหนม เป็นต้น) อาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว (เช่น กุนเชียง ไส้กรอก เนื้อเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น) และอาหารรมควัน (เช่น ปลารมควัน ไส้กรอกรมควัน)

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจมีผลทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบจากไวรัส ภาวะท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง นิ่วในท่อน้ำดี ท่อน้ำดีโป่งพอง ความผิดปกติของระบบทางเดินน้ำดีโดยกำเนิด โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคอ้วน เบาหวาน การสูบบุหรี่ การบริโภคแอลกอฮอล์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การมีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งเสมอไป กล่าวคือผู้ที่เป็นมะเร็ง อาจไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนหรือมีเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ คนก็ไม่ได้กลายเป็นมะเร็งตามมา


อาการ

ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใด ๆ (ยกเว้นในรายที่เป็นตับแข็งอยู่ก่อน ก็จะมีอาการของโรคตับแข็ง) เมื่อก้อนมะเร็งลุกลามมากขึ้น จึงเริ่มมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด จุกเสียดท้อง คล้ายอาการอาหารไม่ย่อย บางรายอาจมีอาการปวดหรือเสียวชายโครงขวาโดยไม่มีอาการอื่น ๆ ชัดเจนก็ได้อาการเหล่านี้มักเป็นอยู่เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยผู้ป่วยอาจไม่ได้ใส่ใจ หรือคิดว่าเป็นอาการปวดยอกชายโครงหรืออาหารไม่ย่อย

เมื่อก้อนมะเร็งโตมากขึ้น ก็จะมีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น รู้สึกแน่นอึดอัดที่บริเวณลิ้นปี่ทั้งวัน มีอาการปวดใต้ชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวไปที่ไหล่ขวาหรือใต้สะบักด้านขวา ผู้ป่วยจะเบื่ออาหารมากขึ้น และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วจนคนใกล้ชิดรู้สึกผิดสังเกต 

บางรายอาจมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเหลืองเข้ม อาจคลำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา ท้องบวม หรือเท้าบวมทั้ง 2 ข้าง อาจมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย

ในรายที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดี (มักพบในโรคมะเร็งท่อน้ำดี) ผู้ป่วยจะมีอาการตาและตัวเหลืองจัด คันตามตัว อุจจาระสีซีดขาว

ในรายที่มีภาวะตับแข็งระยะท้ายร่วมด้วย อาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด


ภาวะแทรกซ้อน

มะเร็งตับอาจแพร่กระจายไปทั่วท้องและอวัยวะต่าง ๆ ทำให้มีอาการเจ็บปวดรุนแรง หายใจลำบาก และอาการผิดปกติของอวัยวะที่มะเร็งแพร่กระจายไป เช่น ปวดกระดูกสันหลัง อาการผิดปกติทางสมอง เป็นต้น

อาจมีการแตกของก้อนมะเร็ง (ทำให้มีเลือดออกในช่องท้อง) หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากตับถูกทำลายไม่สามารถผลิตกลูโคสออกมาในกระแสเลือดได้

ในรายที่มีตับแข็งร่วมด้วย ก็มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงของโรคตับแข็งร่วมด้วย


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการตรวจพบตับโต (คลำได้ก้อนแข็ง ผิวขรุขระที่บริเวณใต้ชายโครงขวา) อาจพบอาการท้องมาน (มีน้ำในท้อง) เท้าบวม 2 ข้าง รูปร่างผอม ดีซ่าน หรือไข้ต่ำ ๆ

ในรายที่มีโรคตับแข็งร่วมด้วย มักตรวจพบฝ่ามือแดง จุดแดงรูปแมงมุม

แพทย์จะวินิจฉัยให้ชัดเจนโดยการตรวจเลือด (พบระดับของสารแอลฟาฟีโตโปรตีนในเลือดสูง) และทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น การตรวจอัลตราซาวนด์ การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การสแกนตับ การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography/ERCP) การตรวจชิ้นเนื้อตับ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะแรก (เช่น ตรวจกรองพบโรคนี้ในกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีอาการ) ก็อาจรักษาด้วยการผ่าตัดนำก้อนมะเร็งออก หรือทำการปลูกถ่ายตับ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวหรือหายขาดได้

2. ถ้าพบมะเร็งตับระยะท้าย (ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ตรวจพบเมื่อปรากฏอาการชัดเจนแล้ว) มักจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ หากปล่อยไว้อาจเสียชีวิตภายใน 6 เดือนถึง 1 ปีโดยเฉลี่ย บางรายอาจอยู่ได้นานหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ปฏิบัติตัวดูแลตนเองดี 

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับ แพทย์อาจทำการรักษาเพื่อหยุดยั้งมะเร็ง เช่น การให้เคมีบำบัด การฉายรังสี การฉีดยาฆ่ามะเร็งและสารอุดตันเข้าหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็งให้ก้อนยุบลง (transarterial chemoembolization/TACE และ transcatheter oily chemoembolization/TOCE) การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งโดยผ่านทางผิวหนัง (percutaneous ethanol injection/PEI), การฆ่าเซลล์มะเร็งด้วยความร้อนจากพลังงานคลื่นความถี่วิทยุ (radiofrequency ablation), อิมมูนบำบัด (immunotherapy) ฮอร์โมนบำบัด (hormone therapy) เป็นต้น

นอกจากนี้ จะให้การรักษาตามอาการและการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ลดอันตรายและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ให้ยาบรรเทาปวด ให้เลือด (ถ้ามีเลือดออก) เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ที่มีภาวะอุดกั้นของทางเดินน้ำดี แพทย์อาจทำการผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำดี เพื่อบรรเทาอาการคันและดีซ่าน


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการตาเหลืองตัวเหลือง อ่อนเพลีย น้ำหนักลดฮวบ ปวดเสียดใต้ชายโครงขวา ท้องบวม หรือ คลำได้ก้อนแข็งที่ใต้ชายโครงขวา ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
    หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง
    หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืช โปรตีนที่มีไขมันน้อย (เช่น ปลา ไข่ขาว เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง)
    นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    ออกกำลังกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งงานอดิเรกที่ชอบ และงานจิตอาสา เท่าที่ร่างกายจะอำนวย
    ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนาตามหลักศาสนาที่นับถือ
    ถ้ามีโอกาสควรหาทางเข้าร่วมกิจกรรมของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน หรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด
    ผู้ป่วยและญาติควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย ยอมรับความจริง และใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีและมีคุณค่าที่สุด
    ถ้าหากมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคและวิธีบำบัดรักษา รวมทั้งการแสวงหาทางเลือกอื่น (เช่น การใช้สมุนไพร ยาหม้อ ยาลูกกลอน การนวด ประคบ การฝังเข็ม การล้างพิษ หรือวิธีอื่น ๆ) ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์ และทีมสุขภาพที่ดูแลประจำและรู้จักมักคุ้นกันดี

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีอาการไม่สบายหรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลียมาก หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ชัก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ซีด มีเลือดออก ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน เบื่ออาหารมาก กินไม่ได้ ดื่มน้ำไม่ได้ เป็นต้น
    ขาดยาหรือยาหาย
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

1. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์จัด เพราะอาจทำให้ตับแข็งซึ่งกลายเป็นมะเร็งตับได้ ถ้าตรวจพบพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี ควรงดดื่มโดยเด็ดขาด

2. ไม่สูบบุหรี่

3. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

4. ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ ๆ

5. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารอะฟลาท็อกซิน เช่น ถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง หัวหอม กระเทียมที่ขึ้นรา สารนี้มีความทนต่อความร้อน ไม่ถูกทำลายแม้จะปรุงด้วยความร้อน

6. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารไนโตรซามีน เช่น อาหารโปรตีนหมักดอง รมควัน หรือเนื้อสัตว์ที่ ผสมดินประสิว หากจะกินควรทำให้สุกเพื่อทำลายสารนี้เสียก่อน

7. หาทางป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ทางเลือดหรือทางเพศสัมพันธ์ และควรตรวจเช็กสุขภาพโดยการตรวจเลือด ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรทำการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันโรคตับแข็งและมะเร็งตับ

8. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัสบีตั้งแต่แรกเกิด หรือในกรณีที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้

9. ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ควรรักษาให้หายขาด และงดกินปลาน้ำจืดแบบดิบ ๆ อย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ซ้ำซาก

ข้อแนะนำ

1. ในปัจจุบันตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ สามารถตรวจหามะเร็งเซลล์ตับในระยะแรกเริ่มได้ โดยการเจาะเลือดตรวจหาสารแอลฟาฟีโตโปรตีน (alpha-fetoprotein) ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้สูง เช่น ผู้ป่วยโรคตับแข็ง ผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสชนิดบีหรือซีเรื้อรัง หรือผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสกลุ่มนี้ แพทย์จะแนะนำให้หมั่นตรวจเลือดหาสารนี้และตรวจอัลตราซาวนด์เป็นระยะ ๆ (ทุก 3-6 เดือน) อาจช่วยให้มีทางตรวจพบมะเร็งระยะแรกเริ่มได้

2. สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะท้าย แม้ว่าจะไม่สามารถให้การรักษาให้หาย ก็ควรได้รับการดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ ญาติควรให้กำลังใจผู้ป่วยและส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี อาจช่วยให้มีชีวิตยืนยาวได้มากขึ้น