head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการ สายตาเอียง (Astigmatism)  (อ่าน 105 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 815
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการ สายตาเอียง (Astigmatism)
« เมื่อ: วันที่ 20 สิงหาคม 2024, 19:33:07 น. »
ตรวจอาการ สายตาเอียง (Astigmatism)   

สายตาเอียง หมายถึง ภาวะที่แสงจากวัตถุผ่านเข้าสู่ตาไม่รวมเป็นจุดเดียวเช่นคนปกติ แต่แสงในแนวต่าง ๆ เช่น แนวตั้ง แนวนอน แนวทแยงต่างก็แยกกัน รวมกันเป็นจุดในแนวของตัวเอง โดยแนวตั้งก็รวมกันที่จุดหนึ่ง แนวนอนก็รวมกันที่อีกจุดหนึ่ง ซึ่งแต่ละแนวอาจมีจุดรวมแสงตกข้างหน้าจอตา ตรงจอตา หรือหลังจอตาก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากกระจกตามีความโค้งในแนวต่าง ๆ ไม่เท่ากัน จึงทำให้มีการหักเหของแสงต่าง ๆ กันไป ทำให้มองเห็นภาพในแนวต่าง ๆ ชัดไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่มักเกิดร่วมกับสายตาสั้นหรือสายตายาว

สายตาเอียงมีอาการมองไม่ชัดที่แตกต่างจากสายตาสั้น หรือสายตายาว กล่าวคือ ผู้ที่มีสายตาสั้น หรือสายตายาว จะมองเห็นตัวอักษรหรือตัวเลขชัดเท่า ๆ กันทุกตัวหรือมัวเท่า ๆ กันทุกตัว แต่ผู้ที่มีสายตาเอียง จะมองเห็นตัวอักษรหรือตัวเลขบางตัวชัด บางตัวไม่ชัด

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของกระจกตาหรือเลนส์ตา ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด และไม่เป็นมากขึ้นตามอายุ

นอกจากนี้อาจเกิดจากแผลเป็นที่กระจกตา การบาดเจ็บที่ตา หรือการผ่าตัดตา ทำให้ความราบเรียบของกระจกตาเปลี่ยนแปลงไป และทำให้มีการหักเหของแสงในแต่ละแนวแตกต่างกันไป


อาการ

ผู้ป่วยจะมีอาการสายตามัว มองเห็นไม่ชัด หรือมองเห็นภาพซ้อน และอาจมีอาการสายตาสั้น (มองไกลไม่ชัด) หรือสายตายาว (มองใกล้ไม่ชัด) ร่วมด้วย ต้องหยีตา หรือเอียงคอเพื่อให้การเห็นดีขึ้น บางรายอาจต้องเพ่งสายตาจนรู้สึกปวดเมื่อยตา ตาล้า ตาเพลีย หรือปวดศีรษะ


ภาวะแทรกซ้อน

มีปัญหาในการอ่านหนังสือ หรือการมองวัตถุที่อยู่ใกล้ และอาจทำให้มีอาการปวดเมื่อยตาและปวดศีรษะจากการเพ่งมอง

หากเป็นสายตาเอียงเพียงข้างเดียว และปล่อยไว้ไม่รักษา ผู้ป่วยอาจใช้แต่ตาข้างดีข้างเดียว และไม่ใช้ตาข้างที่ผิดปกติ เพื่อให้มองเห็นได้ชัด สายตาข้างที่ผิดปกติจะค่อย ๆ เสื่อมลง จนตาบอดในที่สุด เรียกภาวะนี้ว่า ตาขี้เกียจ (lazy eye หรือ amblyopia)


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการใช้เครื่องตรวจวัดสายตาและการตรวจสุขภาพตาซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน และอาจวัดสายตาด้วยการทดลองให้มองผ่านเลนส์หลาย ๆ ขนาดเพื่อหาขนาดที่ให้ความคมชัดที่สุด

บางครั้งแพทย์อาจให้ยาหยอดตาขยายรูม่านตา เพื่อเปิดมุมกว้างสำหรับการตรวจภายในลูกตาได้ละเอียด อาจทำให้เห็นแสงจ้า หรือรู้สึกตาพร่ามัวอยู่สักพักใหญ่ และจะหายดีหลังจากยาหมดฤทธิ์


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะทำการตรวจวัดสายตา และแก้ไขด้วยการให้ผู้ป่วยใส่แว่นชนิดเลนส์ทรงกระบอกหรือเลนส์สัมผัส (คอนแทคเลนส์) ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นได้ชัดขึ้น

บางรายอาจรักษาด้วยการทำเลซิก (LASIK)


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการสายตามัว มองเห็นไม่ชัด มีอาการหยีตาหรือคอเอียงเพื่อให้การเห็นดีขึ้น รู้สึกปวดเมื่อยตา ตาล้า หรือตาเพลีย ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นสายตาเอียง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ 
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    ควรดูแลสุขภาพตา ป้องกันไม่ให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บ โดยใส่อุปกรณ์ป้องกันตาเวลาทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของตา (เช่น เล่นกีฬา ตัดหญ้า ทาสี หรือการสัมผัสสารเคมี)     


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    สายตามีความผิดปกติมากขึ้น หรือใส่แว่นสายตาแล้วยังมองเห็นไม่ชัด
    มีอาการตาล้า หรือปวดศีรษะบ่อย
    สงสัยมีภาวะแทรกซ้อนหรือความผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะมาก ปวดตามาก ตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน เห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลช หรือเห็นจุดดำคล้ายเงาหยากไย่หรือแมลงลอยไปมา เป็นต้น


การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากสายตาเอียงส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปกติของกระจกตาหรือเลนส์ตามาแต่กำเนิด


ข้อแนะนำ

เด็กที่มีสายตาผิดปกติ มองภาพไม่ชัด พร่ามัว เวลามองอะไรชอบเอียงคอหรือศีรษะ ปวดเมื่อยตาหรือปวดศีรษะบ่อย ควรพาไปปรึกษาแพทย์ อาจมีสาเหตุจากสายตาผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นสายตาเอียงเพียงข้างเดียว แล้วปล่อยปละละเลย ไม่ได้รับการแก้ไขไปนาน ๆ อาจทำให้สายตาข้างนั้นพิการอย่างถาวรได้