ไขข้อสงสัย วิธีแก้แฮงค์ ‘ยาแก้เมาค้าง’ มีจริงหรือไม่?แม้ว่างานเลี้ยงและการดื่มสังสรรค์จะเลิกลาไปแล้ว แต่หลาย ๆ คน อาจมีอาการเหล่านี้หลงเหลืออยู่ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ กระหายน้ำ ใจสั่น อ่อนเพลีย ตัวเย็น กล้ามเนื้อเกร็ง หรืออาจเป็นตะคริวร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า คุณกำลังอยู่ในภาวะ “เมาค้าง”
สาเหตุของอาการเมาค้าง
อาการเมาค้าง เกิดจากแอลกอฮอล์ไปลดการดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุจากทางเดินอาหาร และยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ยิ่งปัสสาวะบ่อยยิ่งทำให้ร่างกายเสียน้ำ โดยมีการขับวิตามินและแร่ธาตุสำคัญออกไปพร้อมกับปัสสาวะ จึงทำให้รู้สึกอ่อนล้า
วิตามินที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมาค้าง
วิตามิน บี1 และ บี6: ช่วยลดอาการ มึนงง เวียนศีรษะ ชาปลายมือปลายเท้า พบได้ในผัก ถัวลิสง ถั่วเหลือง นม ไข่แดง ปลา และตับ เป็นต้น
วิตามินซี: ช่วยเร่งการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย และทำให้สดชื่น พบได้ในน้ำส้ม หรือน้ำมะนาว
กรดโฟลิก: ช่วยนำส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ลดอาการอ่อนเพลีย ช่วยฟื้นฟูเซลล์ที่จะถูกทำลายโดยแอลกอฮอล์ พบได้ในกะหล่ำปลี และบร็อคโคลี่
แมกนีเซียม: บรรเทาอาการปวดศีรษะ หงุดหงิด ช่วยลดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาการอ่อนเพลียได้ พบได้ในเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี และผักใบเขียว
โพแทสเซียม: ช่วยลดอาการขาดน้ำ เพิ่มเกลือแร่ พบได้ในกล้วย และน้ำมะพร้าว
ยาแก้เมาค้างมีจริงหรือไม่?
ยาที่ขึ้นทะเบียนว่าเป็นยาแก้เมาค้างไม่มีอยู่จริง มีเพียงแต่ยาที่ใช้รักษาตามอาการ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมวิตามินเพื่อช่วยให้เรารู้สึกสดชื่น และหายจากการเมาค้างได้ เช่น
การรับประทานยาแก้คลื่นไส้อาเจียน
การรับประทานยาบรรเทาการปวดศีรษะ
การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมวิตามิน หรือเครื่องดื่มเสริมวิตามิน
อย่างไรก็ตามอาการเมาค้าง อาจไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาเสมอไป เราอาจใช้การรับประทานอาหาร หรือ ดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยบรรเทาอาการเมาค้างได้ รวมถึงการนอนพักผ่อนก็จะช่วยให้อาการเมาค้างดีขึ้นได้ด้วย นอกจากการขาดวิตามินแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเมาค้างได้อีก เช่น ภาวะการเสียน้ำ จึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และอย่าปล่อยให้ท้องว่าง อาจรับประทานอาหารเบา ๆ เช่น ข้าวต้ม หรือโจ๊ก เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารระคายเคืองจากน้ำย่อย แต่หากต้องการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพิ่มเติมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเลือกใช้ยา