โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: ขี้หูอุดตันรูหู (Wax blockage/Impacted cerumen)ขี้หูเกิดจากการรวมตัวของสารที่ขับจากต่อมขี้หูและต่อมไขมันที่อยู่ในช่องหูชั้นนอก เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่รูหู ป้องกันการติดเชื้อและป้องกันแมลงมิให้เข้าใกล้หูหรือเข้าไปในช่องหู
ลักษณะและปริมาณของขี้หูแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
โดยธรรมชาติขี้หูจะถูกผลักดันออกสู่นอกช่องหูวันละน้อย โดยการเคลื่อนตัวของเซลล์ผิวหนังชั้นผิวที่ปกคลุมหูชั้นนอกอยู่ จึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีแคะ เขี่ย หรือล้างทำความสะอาดแต่อย่างใด
สาเหตุ
การอุดตันของรูหูเกิดจากการแคะหรือการทำความสะอาดบ่อยเกินไป เกิดการระคายเคืองหรือการอักเสบ กระตุ้นให้ต่อมขี้หูสร้างขี้หูมากขึ้น และมีการสะสมของขี้หูเป็นก้อนแข็งจนอุดตันรูหูได้
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการหูอื้อ มักเป็นเพียงข้างเดียว ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันหลังว่ายน้ำ อาบน้ำ หรือสระผม เนื่องจากขี้หูที่สะสมอยู่อุ้มน้ำที่เข้าไปในช่องหู จนก้อนขี้หูพองตัว อัดแน่นช่องหู
บางรายมีความรู้สึกเหมือนมีน้ำค้างอยู่ในหูตลอดเวลา พยายามเอาไม้พันสำลีเช็ดออก แต่ยิ่งเช็ดก็กลับยิ่งอื้อ เพราะมักจะดันขี้หูเข้าลึกและอัดแน่นยิ่งขึ้น บางรายอาจมีอาการปวดหูหรือวิงเวียนร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
หากมีการแคะหูจนเกิดแผลถลอก ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ทำให้หูชั้นนอกอักเสบได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ สิ่งตรวจพบ และการใช้เครื่องส่องหูตรวจดู จะพบขี้หูอุดเต็มรูหูจนมองไม่เห็นเยื่อแก้วหู เพราะถูกขี้หูบังไว้
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าส่องไฟดูหูแล้ว เห็นขี้หูค่อนข้างหลวม ไม่แน่นมาก แพทย์จะใช้ห่วงแคะหูหรือตะขอแคะขี้หูที่สะอาด ค่อย ๆ เขี่ยขี้หูออก
2. ถ้าเขี่ยไม่ออกหรือขี้หูแข็งจะใช้น้ำเกลือนอร์มัลหรือน้ำสะอาดผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตที่มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ฉีดล้างออก (หลีกเลี่ยงการใช้น้ำที่มีอุณหภูมิต่ำหรือสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส อาจกระตุ้นให้เกิดอาการวิงเวียนได้) หรืออาจให้ผู้ป่วยใช้ยาละลายขี้หู หยอดหูบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ นาน 3-5 วันก่อน แล้วค่อยใช้น้ำหรือน้ำเกลือฉีดล้างออก หรือใช้เครื่องมือช่วยนำเอาขี้หูออก
3. ถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแบบเดียวกับหูชั้นนอกอักเสบ
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการหูอื้อ หรือรู้สึกเหมือนมีน้ำค้างอยู่ในหูตลอดเวลานานเป็นวัน ๆ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นขี้หูอุดตันรูหู ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
มีอาการไข้ ปวดหูมากขึ้น หรือหูน้ำหนวกไหล
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
แนะนำให้ผู้ป่วยเลิกนิสัยการแคะหู ล้างหู และไม่ควรใช้ไม้พันสำลีเช็ดหรือปั่นหูเป็นประจำ นอกจากจะไม่มีประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจกระตุ้นให้เกิดขี้หูมากจนอุดตันรูหูได้
ข้อแนะนำ
หากมีอาการหูอื้อหรือรู้สึกเหมือนมีน้ำเข้าหู ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันหลังว่ายน้ำ อาบน้ำ หรือสระผม
หากสงสัยว่าเกิดจากมีน้ำเข้าหูให้ลองตะแคงหูข้างที่มีอาการลงด้านล่าง แล้วเคาะที่ศีรษะเบา ๆ เพื่อให้น้ำระบายออกจากหู (ไม่ให้ใช้ไม้พันสำลีแยงหูเพื่อซับน้ำ อาจทำให้เกิดแผลถลอก หรืออาจดันให้ขี้หูเข้าลึกและอัดแน่นยิ่งขึ้นได้หากเกิดจากมีขี้หูอุดตันรูหู) ถ้าอาการหูอื้อไม่หายนานเป็นวัน ๆ หรือสงสัยว่าเกิดจากขี้หูอุดตันรูหู ควรปรึกษาแพทย์