head prakardsod






























































ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้น: โรคลมร้อน (Heat stroke)  (อ่าน 839 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 661
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้น: โรคลมร้อน (Heat stroke)
« เมื่อ: วันที่ 20 สิงหาคม 2023, 23:45:17 น. »
โรคลมร้อน (โรคลมแดด ฮีตสโตรก ก็เรียก) เป็นภาวะการเจ็บป่วยฉุกเฉินร้ายแรงชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายสูญเสียกลไกปรับอุณหภูมิ* ไม่สามารถกำจัดความร้อน เป็นเหตุให้มีการสะสมความร้อนภายในร่างกายสูงมากจนส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ ทำหน้าที่ผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมอง หัวใจ ตับและไต ซึ่งอาจมีอันตรายถึงเสียชีวิต มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายเผชิญกับคลื่นความร้อน (ซึ่งเกิดขึ้นในฤดูร้อน) หรือออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน

โรคนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) ผู้สูงอายุ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุมากกว่า 65 ปี) คนอ้วน ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหลอดเลือดสมอง พาร์กินสัน เป็นต้น) ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือขาดการออกกำลังกาย


นอกจากนี้ ผู้ที่กินยาบางชนิดที่ขัดขวางกลไกการกำจัดความร้อนออกจากร่างกาย (เช่น ยารักษาโรคจิตประสาท ยาแก้แพ้ ยาที่ออกฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันกลุ่มปิดกั้นบีตา เป็นต้น) ผู้ที่เสพยา (โคเคน แอมเฟตามีน) ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากขึ้น

*ร่างกายของคนเราจะปรับอุณหภูมิให้อยู่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส (98.6 องศาฟาเรนไฮต์) อยู่ตลอดเวลา ถ้าร่างกายมีการสะสมความร้อนมาก (เช่น การเผาผลาญอาหาร การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อร่างกาย) ก็จะกำจัดความร้อนออกจากร่างกายโดยการแผ่รังสี (ความร้อนจะกระจายออกจากร่างกายที่ร้อนกว่าไปยังอากาศภายนอกที่เย็นกว่า แต่ถ้าอากาศภายนอกร้อนเกิน 35 องศาเซลเซียส หรือร้อนกว่าร่างกาย ร่างกายก็ไม่สามารถแผ่รังสีความร้อนออกไปข้างนอก) และระบายออกทางเหงื่อ (จะเกิดขึ้นเมื่ออากาศภายนอกร้อนกว่าร่างกาย หรือขณะออกกำลังกาย แต่ถ้าอากาศภายนอกมีความชื้นสูง ก็จะทำให้การระบายความร้อนออกทางเหงื่อด้อยประสิทธิผลลงไป) ดังนั้นการกำจัดความร้อนของร่างกายจะเป็นไปได้ยากเมื่ออยู่ในอากาศที่ร้อนและชื้น

สาเหตุ

1. เกิดจากการเผชิญกับอากาศร้อน เช่น การเกิดคลื่นความร้อน (คือ อุณหภูมิสูงผิดปกติอยู่เป็นเวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์*) อาจทำให้เกิดโรคลมร้อนหรือฮีตสโตรกในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ร่างกายอ่อนแอจากภาวะการเจ็บป่วยซึ่งอยู่ในห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือการถ่ายเทอากาศไม่ดี

2. เกิดจากการออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงกายอย่างหนักท่ามกลางอากาศร้อนและชื้น ในที่กลางแดด หรือในห้องที่ร้อนและปิดมิดชิด ร่างกายจะสร้างความร้อนมากเกินกว่าที่สามารถกำจัดออกไปได้ มักพบในนักกีฬา นักวิ่งมาราธอน นักปั่นจักรยานทางไกล นักขับรถแข่ง ทหาร (ที่ฝึกอยู่กลางแดด) คนงานก่อสร้าง เกษตรกร คนเร่ร่อน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอายุไม่มาก

3. ในเด็กเล็กที่ติดอยู่ในรถยนต์ที่ปิดประตูหน้าต่างอยู่กลางแดดเปรี้ยง ก็อาจได้รับอันตรายจากความร้อนร่วมกับภาวะขาดอากาศหายใจ

สาเหตุเหล่านี้ทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดความร้อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่หนา รัดรูป หรือไม่สามารถระบายความร้อนได้ ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลส่งเสริมให้ร่างกายสูญเสียกลไกปรับอุณหภูมิมากยิ่งขึ้น) ทำให้มีอุณหภูมิแกน (core temperature โดยการวัดทางทวารหนัก) ขึ้นสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ความร้อนจะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ถูกทำลายจนทำหน้าที่ผิดปกติไป และเกิดปฏิกิริยาการอักเสบของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง

*คลื่นความร้อน (heat waves) คือปรากฏการณ์ที่เกิดจากอากาศร้อนจัดสะสมอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่งในแผ่นดิน หรือพัดพามากับกระแสลมแรงจากทะเลทราย เกิดเป็นคลื่นความร้อน ทำให้เกิดความแปรปรวนของความร้อนในอากาศ อุณหภูมิสูงผิดปกติอยู่เป็นเวลาหลายวันหรือเป็นสัปดาห์

ดัชนีค่าความร้อนขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศและแต่ละภูมิภาค สำหรับประเทศไทยกำหนดเกณฑ์ว่า อากาศร้อนมีอุณหภูมิระหว่าง 35-39.9 องศาเซลเซียส และอากาศร้อนจัดมีอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป


ตรวจอาการเบื้องต้น: โรคลมร้อน (Heat stroke) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/symptom-checker