คุณพ่อคุณแม่อาจกังวลใจว่าจะทำอย่างไรให้ลูกหายกลัวหมอฟันดีนะ หลายครั้งที่พบว่าลูกกลัวจนงอแงและไม่อยากไปรักษาฟัน แม้ว่าจะมีปัญหาฟันก็ตาม วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีรักษาอาการลูกกลัวหมอฟันกันครับ
ทำไมเด็ก ๆ ถึงกลัวหมอฟัน
1. เด็กได้ยินเรื่องเกี่ยวกับหมอฟันในแง่ลบ
ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันหลาย ๆ คนที่ได้ยินหรือมีประสบการณ์การทำฟันที่แย่มาจากคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจรู้สึกเข็ดขยาดกับการทำฟัน เวลามีใครมาถามเกี่ยวกับการทำฟันก็ตาม คนเหล่านั้นมักจะตอบคำถามด้วยความรู้สึกกลัวหมอฟัน ทำให้เด็ก ๆ ที่ได้ยิน โดยเฉพาะเด็กที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำฟันมาก่อน รู้สึกกลัวและคิดไปเองว่าการทำฟันจะสร้างความเจ็บปวด ส่งผลให้เด็กกลัวการทำฟัน
2. ผู้ปกครองพูดข่มขู่ให้เด็กรู้สึกกลัว หรือโกหกเด็กว่าไม่เจ็บ
หลายคนมีความคิดผิด ๆ ว่าการข่มขู่ให้ลูกกลัวหมอฟัน จะทำให้เด็กยอมสยบต่อหมอฟันโดยดี แต่ที่จริงแล้วกลับส่งผลเสียต่อลูกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าใครก็ไม่ชอบการถูกบังคับใช่มั้ยล่ะครับ โดยเฉพาะวัยเด็กที่กล้าคิดกล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ห้ามข่มขู่ลูกให้กลัวหมอฟันเด็ดขาด เพราะจะทำให้เด็กกลัวและแสดงอาการต่อต้านอย่างรุนแรง และหากใช้กำลังบังคับลูกทำฟัน ก็อาจสร้างแผลในใจจนลูกไม่อยากทำฟันและละเลยการดูแลสุขภาพช่องปาก กลายเป็นปัญหาช่องปากระยะยาวได้
หรือหากคุณพ่อคุณแม่โกหกลูกว่าทำฟันไม่เจ็บหรอก แน่นอนว่าการฉีดยามันเจ็บอยู่แล้วแน่ ๆ เมื่อเด็กถูกฉีดยาแล้วรู้สึกเจ็บ เด็กอาจเริ่มไม่เชื่อใจทั้งคุณหมอและตัวคุณพ่อคุณแม่เองด้วย ดังนั้นหากลูกถามว่าเจ็บมั้ย ให้ตอบตามความเป็นจริง เพียงแค่เลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมและทำให้เด็กไม่รู้สึกกลัว เช่น พ่อ/แม่เคยฉีดยาแล้ว รู้สึกเหมือนมดกัดเลย เจ็บนิดเดียวเองลูก หรือถ้าลูกให้ความร่วมมือในการรักษาจนจบ คุณพ่อคุณแม่ควรให้รางวัลลูกด้วยการกอดหรือพูดให้กำลังใจเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองเก่งมากที่ผ่านการรักษามาได้โดยที่ไม่ร้องไห้เลย ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่อาจให้รางวัลได้ในบางครั้งเพื่อให้เด็กมีกำลังใจในการทำฟันครั้งต่อไป แต่ไม่ควรให้บ่อย ๆ นะครับ เพื่อจะติดเป็นนิสัยและทำให้เด็กคาดหวังกับของรางวัลทุกครั้งที่มารักษา
3. ละเลยการดูแลเอาใจใส่ฟันลูกน้อย
ต้นเหตุของปัญหาฟันส่วนใหญ่มีอยู่ 2 กรณี คือ เด็กมีปัญหาช่องปากอันเกิดจากพันธุกรรมและปัญหาที่เกิดจากการดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ฟันมีปัญหาเรื้อรังจนต้องมาตามแก้กันยกใหญ่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการดูแลช่องปากลูกน้อยเป็นประจำ เริ่มจากการปลูกฝังให้ลูกรักและดูแลสุขภาพฟันอย่างถูกวิธี เริ่มจากการร่วมกันแปรงฟันกับลูกทุกครั้งอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (หลังมื้อเช้า 30 นาที และก่อนนอน) หรือแปรงทุกครั้งหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 30 นาที เพื่อกำจัดเศษอาหารที่ติดตามซอกฟันจนกลายเป็นหินปูน นอกจากนี้หลีกเลี่ยงอาหารหรือขนมที่ทำให้ฟันสึกกร่อนง่าย เช่น น้ำอัดลมที่มีฤทธิ์เป็นกรด และขนมที่มีน้ำตาลสูง เช่น ลูกอม, ไอศกรีม ทั้งนี้อาจให้ลูกกินได้แต่ไม่ควรบ่อยเกินไป
นอกจากนี้หากลูกมีปัญหาฟันในช่วงที่ฟันลูกเป็นฟันน้ำนม เช่น ฟันหลุด ฟันหัก อย่ารอให้ฟันแท้งอกขึ้นมา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นฟันผุ มีหนองใต้เหงือก หรืออาจลุกลามไปถึงระบบทางเดินหายใจ อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ด้วย
4. ตามใจลูกหากลูกไม่อยากไปหาหมอฟัน
การไม่พาลูกไปหาหมอฟันตามนัดเพราะคิดว่าเดี๋ยวฟันน้ำนมก็หลุดแล้ว รักษาตอนทำฟันแท้ทีเดียวดีกว่า หรือถ้าลูกไม่อยากไปทำฟันวันนี้ ก็ไม่พาไป เดี๋ยวค่อยทำฟันวันอื่นก็ได้ ความคิดเหล่านี้ควรตัดทิ้งจากหัวไปเลยครับ เพราะเป็นความคิดที่อันตรายมาก การมารักษาตามหมอนัดจะช่วยให้การรักษาช่องปากเป็นไปตามแผนของคุณหมอ แต่ถ้าไม่มาตามนัด อาจต้องเลื่อนแผนการรักษาให้นานขึ้น หากปล่อยไว้นานอาจทำให้ปัญหาช่องปากเรื้อรังจนเป็นอันตรายในระยะยาวได้
แก้ปัญหาลูกกลัวหมอฟันอย่างไรดีนะ
1. สร้างทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำฟัน
หนึ่งในวิธีที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนใช้แล้วได้ผลคือการให้ลูกเรียนรู้และสร้างความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับการทำฟันด้วยการเล่านิทาน เนื่องจากธรรมชาติของเด็กจะชอบให้คุณพ่อคุณแม่เล่านิทานให้ฟังเป็นประจำ ซึ่งนิทานจะช่วยให้เด็กจดจำและเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ผ่านจินตนาการของเขาเอง ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่หานิทานที่เกี่ยวกับการดูแลทำความสะอาดฟันและการรักษาฟันโดยคุณหมอฟันผู้ใจดี ก็ยิ่งจะช่วยให้เด็กรู้สึกสนุกและอยากไปหาหมอฟันมากยิ่งขึ้น หรืออาจให้ลูกดูการ์ตูนสนุก ๆ เกี่ยวกับหมอฟันบ้าง
นอกจากนิทานหรือการ์ตูนเกี่ยวกับหมอฟันแล้ว แนะนำให้เล่นบทบาทสมมติกับลูก ให้คุณพ่อคุณแม่รับบทเป็นคุณหมอ ส่วนลูกน้อยเป็นคนไข้ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมอุปกรณ์ของเล่นที่เกี่ยวกับการรักษาฟันแบบครบเซต จากนั้นจึงสมมติเหตุการณ์ว่าเด็ก ๆ มาทำฟันกับคุณหมอ โดยคุณพ่อ/คุณแม่ที่รับบทเป็นหมอสอบถามว่าเป็นอะไรมา ไหนลองอ้าปากให้ดูหน่อย พร้อมทำท่าและเสียงประกอบ เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจว่าการทำฟันจะมีขั้นตอนแบบนี้ และรู้สึกสนุก ทำให้เด็กไม่กลัวหมอฟันนั่นเองครับ
2. บอกความจริงกับลูกโดยเลือกใช้ความพูดที่ถูกต้องและไม่น่ากลัว
คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความเข้าใจใหม่ ให้ลูกน้อยรู้สึกว่าการทำฟันไม่ได้น่ากลัวหรือเจ็บปวดอย่างที่คิด อาจพูดให้ลูกเห็นภาพว่าคุณพ่อคุณแม่ก็เคยทำฟันมาก่อน โดยเปรียบเทียบกันระหว่างการทำฟันวัยเด็กกับการทำฟันเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ประมาณว่า “รู้สึกเสียดายจัง น่าจะทำฟันตั้งแต่เด็กดีกว่า ตอนเด็กถอนฟัน/ผ่าฟันแปบเดียวก็หายแล้ว ไม่เจ็บด้วย พอพ่อ/แม่มารักษาฟันตอนโตแล้วก็รู้สึกปวดฟันนานมากเลย พ่อ/แม่ไม่อยากให้หนูเป็นอย่างนั้นเลยนะลูก” เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าการทำฟันในช่วงวัยของเขาดีกว่า เจ็บน้อยกว่าการมานั่งรักษาฟันตอนโต
3. สร้างความคุ้นเคยระหว่างลูกกับคุณหมอ
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนพลาดไปเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากลูกก็คือการไม่ยอมพาลูกมาหาหมอฟันตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น เพราะมองว่าฟันน้ำนมมีอายุการใช้งานไม่นาน ทั้งที่จริงแล้วฟันชนิดนี้มีอายุการใช้งานมากถึง 12 ปีเลยทีเดียว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับฟันชนิดนี้ให้มาก เพราะเป็นฟันพื้นฐานที่ช่วยให้ฟันแท้ซึ่งเป็นฟันที่ใช้งานระยะยาวนั้นมีความแข็งแรงและไม่มีปัญหาแทรกซ้อนจากปัญหาฟันน้ำนมด้วย ดังนั้นควรพาลูกน้อยมาหาคุณหมอเป็นประจำตามนัด เพื่อติดตามผลว่าฟันจะขึ้นผิดปกติมั้ย มีโอกาสเกิดปัญหาฟันในระยะยาวหรือเปล่า นอกจากนี้ยังช่วยสร้างความคุ้นชินกับหมอ ทำให้เด็กใส่ใจในการดูแลสุขภาพช่องปากมากยิ่งขึ้น
4. หยุดให้รางวัลลูกทุกครั้งที่มาหาหมอฟัน
การให้รางวัลมากเกินไป อาจทำให้เด็กคาดหวังว่าจะต้องได้รางวัลทุกครั้งที่มาหาคุณหมอ ทางที่ดีควรให้รางวัลนาน ๆ ที หรือเน้นไปที่การพูดหรือกอดให้กำลังใจ จะดีกว่านะครับ
5. หยุดข่มขู่เพื่อให้ลูกรู้สึกกลัว
ข้อนี้สำคัญมากถ้าอยากให้ลูกมาหาคุณหมอได้โดยที่ไม่รู้สึกกลัว ดังนั้นไม่ควรบังคับลูก แต่ควรเลือกวิธีการพูดคุยอย่างมีเหตุมีผล หากไม่รู้ว่าควรพูดอย่างไร แนะนำให้ปรึกษาหมอฟันเด็ก เนื่องจากคุณหมอจะมีความรู้เกี่ยวกับหลักจิตวิทยาของเด็กและมีประสบการณ์ในการรับมือกับเด็กมามากหลากหลายรูปแบบ เพื่อที่คุณหมอจะได้เลือกวิธีการพูดที่โน้มน้าวเด็กได้ตรงจุดมากที่สุด
6. สอนลูกดูแลช่องปากอย่างถูกวิธี
การแปรงฟันที่ถูกต้องจะทำให้สุขภาพช่องปากลูกดีขึ้น แต่หากแปรงฟันผิดวิธีก็อาจส่งผลเสียต่อช่องปากได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นอาการเลือดออกจากการแปรงฟันแรงเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม หลายคนคิดว่าการแปรงแรง ๆ จะช่วยขจัดเศษอาหารและคราบแบคทีเรียในช่องปากได้หมดจด แต่ที่จริงแล้วกลับทำร้ายเคลือบฟันและเหงือก จนเป็นสาเหตุของเหงือกร่น ทำให้รู้สึกเสียวฟันง่ายและกลายเป็นแหล่งสะสมของเศษอาหารและคราบหินปูนอีกด้วย ดังนั้นการทำความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ลูกมีปัญหาช่องปากน้อยลง ไม่ต้องมานั่งรักษาฟันกับคุณหมอบ่อย ๆ ถือว่าเป็นการป้องกันปัญหาลูกกลัวหมอฟันได้ดีทีเดียว
7. เตรียมความพร้อมให้ลูกน้อยก่อนไปหาหมอฟัน
แนะนำให้พาลูกไปหาคุณหมอหลังจากช่วงนอนกลางวัน ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ต้องจำเอาไว้เลยว่านะครับว่าอารมณ์ของเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่สามารถอดทนต่อการทำฟันนาน ๆ ดังนั้นป้องกันไม่ให้ลูกงอแงขณะทำฟันจะดีที่สุดครับ นอกจากนี้ไม่ควรให้ลูกทานอาหารก่อนการทำฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และงดนมที่มีฤทธิ์ย่อยยากอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ป้องกันลูกอาเจียนขณะทำฟัน หากลูกอาเจียนง่าย แนะนำให้ทานน้ำมาก่อนเล็กน้อย เมื่อเด็กทำฟันเสร็จแล้วค่อยให้ทานอาหารอ่อน หรืองดอาหารอีก 30 นาที
จัดฟันเด็ก: แก้ปัญหาลูกกลัวหมอฟันได้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://www.idolsmiledental.com/การจัดฟันเด็ก/